การจอดรถที่ถูกต้อง เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ใช้รถทุกคนควรรู้เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการจอดรถในห้าง ตามสถานที่ต่าง ๆ จอดรถข้างทาง จอดซ้อนคัน หรือจอดในที่ห้ามจอด
การจอดรถที่ถูกต้อง เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ใช้รถทุกคนควรรู้ เพราะนอกจากจะลดการสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ร่วมทางคนอื่นแล้ว ยังช่วยให้รถคันอื่น ๆ สามารถจอดรถ และขับขี่บนท้องถนนได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ เมื่อเกิดปัญหาตามมา ยังไม่มีใครสามารถเอาผิดคุณได้อีกด้วย ซึ่งการ จอด รถ ที่ ถูก ต้อง ในกรณีต่าง ๆ สามารถทำได้ ดังนี้
-
เมื่อจอดรถในห้าง หรือสถานที่ต่าง ๆ
เมื่อจะจอดรถภายในห้าง หรือตามสถานที่ต่าง ๆ ควรจอดเข้าซอง หรือจอดในช่องที่กำหนดไว้ โดยกะระยะให้รถอยู่กึ่งกลาง และจอดขนาบกับเส้นที่กำหนด ไม่จอดชิดฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากเกินไป หรือจอดเกินไปช่องอื่น เพราะรถคันอื่นจะจอดค่อมเลนต่อไปเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ก่อนลงจากรถยังควรพับกระจกข้างลง เพื่อให้รถคันอื่นสามารถเข้าจอดได้อย่างสะดวก
อ่านเพิ่มเติม: อัปเดต! ค่าจอดรถห้างดังในกรุงเทพฯ 2565

-
เมื่อจอดรถซ้อนคัน
กรณีจอดรถซ้อนคัน ต้องเว้นระยะห่างให้พอดี ไม่จอดชิดกับรถคันใดคันหนึ่งมากเกินไป เป็นการเผื่อระยะให้รถคันอื่นได้เข้า-ออกจากที่จอดได้สะดวก โดยต้องจอดให้เป็นแนวตรงเสมอ ล้อและพวงมาลัยต้องตรงทุกครั้ง เวลารถคันอื่นมาเข็นรถคุณ จะได้ไม่ออกนอกทาง เมื่อจอดเสร็จแล้ว ควรปลดเกียร์ว่าง เพื่อให้รถคันอื่นที่อยู่ด้านในสามารถเข็นรถคุณออกได้สะดวก นอกจากนี้ ยังควรเขียนชื่อ-เบอร์โทรติดต่อเอาไว้ เผื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน คู่กรณีจะได้ติดต่อคุณได้สะดวก

-
เมื่อจอดรถข้างทาง
การจอดรถข้างถนน ควรจอดชิดขอบทางด้านซ้าย หากถามว่าการจอดรถต้องจอดให้ห่างจากขอบทางไม่เกินกี่เซนติเมตร ? คำตอบคือ ควรจอดรถให้ห่างขอบทางในระยะไม่เกิน 25 เซนติเมตร โดยไม่ควรจอดรถให้กีดขวางทางจราจร หรือจอดซอยแคบ ๆ เพราะจะทำให้รถคันอื่นขับผ่านไปไม่สะดวก

-
เมื่อจอดรถบนทางลาดชัน
เมื่อจำเป็นต้องจอดรถบนทางลาดชัน ควรจอดชิดขอบทาง โดยหมุนพวงมาลัยให้ล้อรถหันเข้าขอบทาง (การหันล้อจะช่วยสร้างความปลอดภัย หากรถไหลขึ้นมา จะได้ติดขอบทาง) ก่อนลงจากรถต้องดึงเบรกมือขึ้นให้สุด กรณีขับรถเกียร์กระปุก ให้เลื่อนเกียร์ไปไว้ตำแหน่งถอยหลัง กรณีขับรถเกียร์อัตโนมัติ หรือเกียร์ออโต้ ให้เลื่อนเกียร์ไปอยู่ที่ตำแหน่ง P

-
เมื่อจอดรถในที่ห้ามจอด และที่ไม่ควรจอด
การจอดรถในที่ห้ามจอด และที่ไม่ควรจอด แม้ว่าจะจอดไว้เพียงชั่วคราว ก็อาจสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นได้ เช่น การจอดรถในที่ที่มีเครื่องหมายกำหนดไว้ว่าห้ามจอด จอดในพื้นที่พิเศษ หรือจอดขวางหน้าบ้านคนอื่น เป็นต้น ซึ่งที่ห้ามจอด และที่ไม่ควรจอด มีดังนี้
- จอดรถในที่ที่มีเครื่องหมายห้ามจอด / ขอบฟุตบาทสีแดงสลับขาว
- จอดรถบนทางเท้า
- จอดรถบนสะพาน หรือในอุโมงค์
- จอดรถบนทางร่วมทางแยก หรือระยะ 10 เมตร จากทางร่วมทางแยก
- จอดรถบนทางม้าลาย หรือระยะ 3 เมตร จากทางม้าลาย
- จอดรถ ระยะ 15 เมตร ก่อนถึงป้ายหยุดรถประจำทาง
- จอดรถ ระยะ 3 เมตร หลังป้ายหยุดรถประจำทาง
- จอดรถ ระยะ 15 เมตร จากทางรถไฟผ่าน
- จอดรถ ระยะ 15 เมตร จากที่ติดตั้งสัญญาณจราจร
- จอดรถ ระยะ 3 เมตร จากท่อน้ำดับเพลิง
- จอดรถ ระยะ 3 เมตรจากตู้ไปรษณีย์
- จอดรถบริเวณทางโค้ง ทางแคบ หรือหัวมุมถนน
- จอดรถในพื้นที่พิเศษ เช่น ที่จอดรถคนพิการ หรือคนชรา
- จอดรถในพื้นที่ส่วนบุคคล ขวางทางเข้า-ออกบ้านคนอื่น
หากฝ่าฝืนจอดรถในที่ห้ามจอด จะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 55 และมาตรา 57 ระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ส่วนการจอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น ถือว่ามีความผิดฐานก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้เสียหาย เจ้าของบ้านสามารถแจ้งความเอาผิดได้ ตามข้อกฎหมายอาญามาตรา 397 วรรคสอง ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

-
เมื่อรถเสีย จอดรถอย่างไร
กรณีที่รถเสีย ควรจอดรถให้ชิดขอบทางด้านซ้ายมากที่สุด จากนั้นเปิดไฟฉุกเฉิน หรือนำกรวย หรือป้ายสามเหลี่ยมสะท้อนแสงมาวางไว้ ในระยะไม่ต่ำกว่า 50 เมตร เพื่อเป็นสัญลักษณ์เตือนให้รถคันอื่น ๆ เห็นว่ารถคุณกำลังเสียอยู่ จะได้เพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่มากขึ้น

การจอดรถที่ไม่ถูกต้อง เช่น จอดในที่ห้ามจอด หรือจอดขวางหน้าบ้านผู้อื่น แม้จะจอดไว้เพียงไม่นาน ก็อาจสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นได้ ผู้ขับขี่จึงควรรู้วิธีการจอดรถที่ถูกต้อง รู้กฎหมาย การ จอด รถ รวมถึงมีมารยาทในการจอดรถ เพื่อป้องกันไม่ให้สร้างปัญหาให้ผู้อื่น จนเกิดความวุ่นวายตามมาในภายหลัง
ติดตามข่าวล่าสุดได้ที่: https://rakamercedes.com/