“พวงมาลัยเพาเวอร์” หรือพวงมาลัยที่มีระบบช่วยผ่อนแรงช่วยให้การหมุนพวงมาลัยเพื่อเปลี่ยนทิศทางของผู้ขับขี่นั้นทำได้ง่ายและเบาลง หากผู้ขับขี่ที่เคยขับรถที่ไม่มีพวงมาลัยเพาเวอร์จะเข้าใจได้ทันทีว่า “พวงมาลัยเพาเวอร์” นั้นช่วยให้ใช้แรงในการบังคับรถโดยเฉพาะในความเร็วต่ำนั้นง่ายดายและใช้กำลังแขนน้อยกว่ามาก ซึ่งปัจจุบันรถยนต์ส่วนใหญ่ก็ติดตั้งพวงมาลัยเพาเวอร์มาแล้วแทบทุกรุ่น แต่ถ้าวันดีคืนดีพวงมาลัยเพาเวอร์ที่เคยเบากลับหนักมือขึ้นมา นั่นหมายความว่าระบบอาจกำลังมีปัญหาเสียแล้ว
>>>สายพานไทม์มิ่งอย่าได้นิ่งนอนใจ…ถึงเวลาต้องเปลี่ยน
>>>การบํารุงรักษาเครื่องยนต์ เรื่องที่คนมีรถยนต์ต้องรู้
ระบบ พวงมาลัย เพา เวอร์ มีกี่แบบ
ปัจจุบัน ระบบ พวงมาลัย เพา เวอร์ ที่ติดตั้งในรถยนต์มีทั้งแบบระบบมอเตอร์ไฟฟ้าและไฮดรอลิกในการช่วยผ่อนแรงให้กับการทำงานของระบบพวงมาลัย (แต่ตอนนี้น่าจะทั้งหมดถูกแทนที่ด้วยระบบไฟฟ้าไปแล้ว)
หากเป็นพวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฮดรอลิกจะมีการเพิ่มปั๊มน้ำมันไฮดรอลิกเข้าไปในระบบ ควบคุมแรงดันไหลเวียนในระบบ เวลาหมุนพวงมาลัยไปทางซ้ายหรือขวา น้ำมันไฮดรอลิคแรงดันสูงจะถูกส่งไปที่กระปุกพวงมาลัยเพาเวอร์ทำให้พวงมาลัยและระบบบังคับเลี้ยวหมุนล้อหน้ารถไปในทิศทางที่ต้องการได้อย่างเบาแรงกว่ารถที่ไม่มีระบบเพาเวอร์
ส่วนพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า EPS (Electric Power Steering) เป็นระบบบังคับเลี้ยวที่นำมอเตอร์ไฟฟ้า มาช่วยผ่อนแรงแทนระบบไฮดรอลิกเพื่อลดภาระของผู้ขับขี่เมื่อหมุนพวงมาลัยได้ง่ายขึ้นไม่ต้องออกแรงมาก
สำหรับข้อดีของพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าเมื่อเทียบกับระบบไฮดรอลิกเดิม เป็นต้นว่า ตัดปัญหาการรั่วไหลของน้ำมันพาวเวอร์ ประหยัดเชื้อเพลิงกว่าเพราะไม่กินแรงเครื่องยนต์จากปั๊มไฮดรอลิก และการควบคุมหลักถูกส่งมาจากกล่องควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ (ECU) ซึ่งมีการเชื่อมต่อจาก Speed Sensor ให้สามารถควบคุมความหนักเบาของพวงมาลัยเป็นลักษณะแปรผันได้ตามความเร็วของรถ ช่วยให้น้ำหนักของพวงมาลัยเบาแรงได้ในความเร็วต่ำและมีน้ำหนักขึ้นเพื่อความมั่นคงในการขับขี่ที่ความเร็วสูง
แต่อย่างไรก็ตามมีดีย่อมมีเสีย ระบบผ่อนแรงของพวงมาลัยที่ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้า หากไม่ได้รับการดูแลรักษาตามระยะหรือเกิดผิดพลาดด้วยตัวระบบเองอาจเกิดอาการเหล่านี้ได้ เช่น
– พวงมาลัยล็อก เนื่องจากกล่องควบคุมตัดระบบมอเตอร์ให้ใช้งานไม่ได้หรือมอเตอร์อาจชำรุดรวมถึงเซ็นเซอร์บางตัวเสียหายก็จะไม่สามารถหมุนพวงมาลัยรถได้เลยอย่างสิ้นเชิง ต้องนำรถเข้าอู่หรือศูนย์บริการเท่านั้น
– อาการพวงมาลัยหนักสามารถเกิดขึ้นได้หากมอเตอร์ไฟฟ้าทำงานผิดปกติ ทำให้พวงมาลัยเพาเวอร์หนักขึ้นแต่ยังสามารถขับได้แต่ต้องใช้แรงมากในการหมุนพวงมาลัย
– ซ่อมยากหรือรถบางรุ่นก็ไม่สามารถนำไปซ่อมได้ต้องเปลี่ยนยกเซต
– ระบบผ่อนแรงไฟฟ้าพวงมาลัยเพาเวอร์ ราคาสูง
แต่อย่างไรก็ตาม หากรถที่ใช้งานเป็นรถพวงมาลัยเพาเวอร์ระบบไฮดรอลิกแบบเดิมอยู่ก็มีอาการพวงมาลัยหนักขึ้นได้เช่นกันอยู่ดี ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากปัญหาเหล่านี้
– ระดับน้ำมันเพาเวอร์ลดต่ำเกินไป ควรหมั่นตรวจสอบหากพบว่าต่ำกว่าระดับที่ผู้ผลิตกำหนด (จะมีขีด MIN กับ MAX ที่ถังพักน้ำมันเพาเวอร์) ก็ควรเติมให้อยู่ในระดับปกติหรือถ้าพบว่าระดับน้ำมันลดบ่อยมากควรรีบตรวจสอบ
– ถ้าเกิดการรั่วซึมของระบบจนน้ำมันเพาเวอร์ไม่พอในระบบจะทำให้พวงมาลัยหนักต้องแก้ไข
– ใช้น้ำมันผิดประเภท พวงมาลัยเพาเวอร์ในรถยนต์แต่ละรุ่นอาจใช้น้ำมันเพาเวอร์คนละแบบหากเติมผิดอาจทำให้ระบบมีปัญหา ควรทำการถ่ายทิ้งทั้งระบบแล้วเติมน้ำมันเพาเวอร์ที่ถูกต้อง
– ปั้มไฮดรอลิกเสียหาย อาการนี้จะมาพร้อมกับเสียงหอนหรือมีเสียงดังขณะหมุนพวงมาลัย
อย่างไรก็ตามนี่อาจเป็นเพียงสาเหตุเบื้องต้นที่ทำให้ระบบพวงมาลัยเพาเวอร์หนักขึ้นได้ แต่สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้พวงมาลัยเพาเวอร์ไม่ผ่อนแรงได้มากอย่างที่เคยเป็นอาจเกิดจากได้อีกมากมายหลายปัจจัย ทั้งตัวระบบของชุดพวงมาลัยเอง (ไม่ว่าพวงมาลัยจะเป็นระบบลูกปืนหมุนวน แรคแอนด์พิเนียนก็ตาม) หรือแม้กระทั่งการเติมลมยางล้อรถยนต์ ซึ่งอาจจะอ่อนก่อนไปก็อาจทำให้การทำงานของพวงมาลัยขณะเลี้ยวต้องใช้กำลังมากขึ้นกว่าปกติได้
ดังนั้น หากพวงมาลัยเพาเวอร์หนักมือขึ้นควรตรวจสอบจากจุดง่าย ๆ ก่อน เช่น เช็กลมยาง เช็กระดับน้ำมันเพาเวอร์ ให้แน่ใจว่าปกติ จึงค่อยไปหาสาเหตุอื่นเพื่อแก้ไขต่อไปตามลำดับความยากง่าย
ติดตามข่าวล่าสุดได้ที่:https://rakamercedes.com/